
AIS ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลที่มุ่งส่งเสริมการใช้งานที่ถูกต้องปลอดภัยและเหมาะสมให้กับลูกค้าและคนไทย ภายใต้โครงการ AIS อุ่นใจ CYBER เปิด “ผลดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย Thailand Cyber Wellness Index 2024” เป็นปีที่ 2 พร้อมพัฒนาเครื่องมือเช็กภูมิคุ้มกันภัยทางไซเบอร์แบบรายบุคคล หรือ Digital Health Check เป็นครั้งแรกในไทย รวมถึงนำเสนอเครื่องมือป้องกันภัยไซเบอร์ด้วยบริการ AIS Secure Net

ผลสำรวจล่าสุดของ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 พบว่า ประเทศไทย ติดอันดับที่ 6 ของโลกในด้านการเกิดภัยทางการเงินทางออนไลน์ในปี 2566

สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าประเทศไทยจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างรวดเร็วก็ตาม

จากข้อมูลสถิติการแจ้งความคดีออนไลน์ พบว่าจำนวนคดีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานที่มักตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่หลอกลวงให้โอนเงิน หรือลงทุนในโครงการที่ไม่น่าเชื่อถือ

รูปแบบการหลอกลวงที่พบบ่อย ได้แก่ การหลอกให้โอนเงินเพื่อแลกกับสินค้าหรือบริการ, หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน, การหลอกให้กู้เงิน, หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และข่มขู่ผ่านโทรศัพท์ ซึ่งมิจฉาชีพมักจะใช้ช่องทางออนไลน์ต่างๆ เช่น โทรศัพท์, อีเมล, และโซเชียลมีเดียในการติดต่อกับเหยื่อ



นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า

ในปีที่ผ่านมา AIS ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และนักวิชาการ ได้เปิดตัวดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ Thailand Cyber Wellness Index ฉบับแรกของไทยที่ทำให้เห็นถึงระดับทักษะการรับรู้และความเข้าใจการใช้งานดิจิทัลในด้านต่างๆ ที่คนไทยยังคงต้องพัฒนาทักษะความรู้เพื่อรับมือกับภัยไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆ ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนหยิบเอาผลการศึกษาของเราไปต่อยอดในการเสริมสร้างทักษะดิจิทัลให้ได้ตรงกลุ่มอายุ อาชีพ หรือแม้แต่พื้นที่อย่างสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของแต่ละหน่วยงาน


กรอบแนวคิดในการเก็บข้อมูลของ Thailand Cyber Wellness Index ดัชนีชี้วัดสุขภาวะทางดิจิทัลโดยมี 7 ด้าน ได้แก่ การใช้ดิจิทัล, ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์, การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์, การรู้เท่าทันดิจิทัล, ความเข้าใจสิทธิทางดิจิทัล, การสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล, และ การแสดงออกทางดิจิทัล โดยวัดผล 3 มิติทั้ง ความรู้, ทักษะ และ ทัศนคติ


ใน Thailand Cyber Wellness Index 2024 ได้เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างคนไทยจำนวน 50,965 ตัวอย่าง จาก 77 จังหวัด ซึ่งพบว่าสุขภาวะทางดิจิทัลของคนไทยส่วนใหญ่อยู่ในระดับพื้นฐาน ซึ่งค่าดัชนีโดยรวมของผลสุขภาวะทางดิจิทัลคนไทยในด้านต่างๆ ของปี 2024 มีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2023 ยกเว้นเรื่อง การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ ที่ลดลง

“ปีนี้ผลการศึกษาก็ยังสะท้อนให้เห็นว่า แม้คนไทยจะมีการพัฒนาความเข้าใจในการใช้งานบนโลกดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นจนผลในภาพรวมอยู่ในระดับพื้นฐาน แต่ยังมีจุดที่น่ากังวล เพราะคนไทยเกินครึ่งยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security and Safety) โดยเฉพาะในประเด็นที่มีความเสี่ยงต่อภัยที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อการใช้งานของตนเองและองค์กร อาทิ การไม่มีความรู้ความเข้าใจการถูกโจมตีด้วยแรนซัมแวร์, การใช้ Wi-Fi สาธารณะในการทำธุรกรรมทางการเงิน, การใช้ วันเดือนปีเกิด มาตั้งเป็นรหัสผ่านซึ่งง่ายต่อการคาดเดา แม้แต่การไม่ทราบว่าการเข้าเว็บไซต์ที่ปลอดภัยลิงค์ URL ควรจะเป็น HTTPS เป็นต้น”
นางสายชล อธิบายเพิ่มเติมว่า วันนี้ AIS ได้พัฒนาเครื่องมือ “Digital Health Check” เพื่อให้คนไทยสามารถวิเคราะห์และประเมินทักษะด้านดิจิทัลของตนเอง พร้อมทั้งแนะนำช่องทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อเสริมสร้างทักษะและองค์ความรู้ในการป้องกันภัยไซเบอร์ให้แก่ลูกค้าและคนไทย










วันนี้ลูกค้าสามารถสมัครใช้งาน AIS Secure Net ได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย เพียงกด 6896# รวมถึงการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าด้วย บริการ Secure Net+ Protected by MSIG ชูจุดเด่นปกป้องภัยคุกคามทางไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นไวรัส มัลแวร์ เว็บไซต์ปลอมหลอกลวง พร้อมแถมประกันภัยเพอร์ซัลนัลไซเบอร์ จาก MSIG ที่มอบความคุ้มครอง อาทิ การโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล และโจรกรรมเงิน หรือการถูกหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ทางออนไลน์ ด้วยวงเงินคุ้มครองสูงสุด 50,000 บาท เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานออนไลน์ในโลกไซเบอร์ได้อย่างมั่นใจ ในราคาสุดคุ้มเดือนละ 39 บาทเท่านั้น สมัครง่ายๆ เพียงกด 68910# โทรออก
ผู้ที่สนใจตรวจเช็กสุขภาวะทางดิจิทัลของตัวเอง ได้ที่ https://digitalhealthcheck.ais.th และสามารถอ่านรายละเอียดผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index 2024 ของคนไทย เพิ่มเติมที่ https://sustainability.ais.co.th/th/sustainability-projects/thailands-cyber-wellness-index